CLOSE

ทำความรู้จักกับ COP26

 มณฑ์ชนก มณีโชติ สถาบันวิทยาการจัดการ ทริส คอร์ปอเรชั่น

COP ย่อมาจาก Conference of Parties คือการประชุมรัฐภาคีสมาชิกความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศต่างๆ (Multilateral agreement) ภายใต้การดำเนินงานขององค์การสหประชาชาติ หรือที่รู้จักกันดีว่า การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยยกร่างอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC) ซึ่งมีมติรับรองในต้นเดือนพฤษภาคม 2535 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา โดยร่างฯ ดังกล่าวมีผลบังคับใช้เมื่อ 21 มีนาคม 2537

ทั้งนี้ COP เป็นเวทีประชุมรัฐภาคีสมาชิกเกือบทุกประเทศทั่วโลกถูกจัดขึ้นทุกปี โดยมีประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติทั้งหมด 197 ประเทศเป็นสมาชิก (ข้อมูล ณ ปี 2021) ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี 2535 COP นับเป็นเวทีเจรจากำหนดแนวทางการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ บางปีจะมีการนำเสนอแผนและลงนามความตกลงร่วมกันระหว่างภาคีสมาชิก เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการฟื้นวิกฤตสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น นับเป็นปัญหาระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศให้คงที่ในระดับที่ปลอดภัยจากการแทรกแซงของมนุษย์อันเป็นอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้การรักษาระดับดังกล่าวต้องดำเนินการในระยะเวลาที่เพียงพอที่จะทำให้ระบบนิเวศปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่คุกคามต่อการผลิตอาหารของมนุษย์ และการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน

COP26 เป็นการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ (ถูกเลื่อนจากปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์โควิด) โดย COP26 มีความเชื่อมโยงกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในการประชุม COP21 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีเป้าหมายสำคัญเพื่อต้องการหลุดพ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ โดยตั้งแต่ความตกลงปารีสมีผลบังคับใช้ พบว่า ภาคีสมาชิกยังขาดประสิทธิภาพในการดำเนินการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เป็นไปตามเป้าหมาย (ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิในช่วงก่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม และพยายามจำกัดให้อุณหภูมิโลกต่ำกว่านั้นประมาณ 1.5 องศาเซลเซียสในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม) ทั้งนี้ COP26 ได้มีข้อตัดสินใจร่วมกันของการประชุมที่ถูกกำหนดขึ้นเรียกว่า Glasgow Climate Pact มีประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) ลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) ให้ได้ภายในปี 2050 และพยายามจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เช่น ลดการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน แบบไม่มีการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ที่เพียงพอ (Unabated Coal) และยกเลิกสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อเปลี่ยนไปสู่ระบบพลังงานแบบคาร์บอนต่ำ นับว่าเป็นครั้งแรกที่มีการระบุเกี่ยวกับการลดการใช้ถ่านหิน และเชื้อเพลิงฟอสซิลลงในข้อตกลง COP

2) บรรเทาความสูญเสีย และความเสียหายที่เกิดจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง การประชุมมีการระดมทุนจากประเทศพัฒนาแล้วเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยง ภายใต้สหประชาชาติ (UN) ในปี 2020 ที่ผ่านมาบรรดาประเทศร่ำรวยไม่ได้ทำตามเป้าหมายจึงได้ให้คำมั่นว่าจะระดมเงินทุนให้ได้ต่อไปจนถึงปี 2025

3) การปรับตัวเพื่อปกป้องชุมชนและธรรมชาติ รวมถึงการปกป้องฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับความเสียหาย และป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง และไฟไหม้ และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

4) เดินหน้าสร้างตลาดคาร์บอน หาข้อตกลงร่วมกันในมาตรา 6 ของข้อตกลงปารีสว่าด้วยกลไกตลาดคาร์บอน ซึ่งจะเปิดทางไปสู่การปฏิบัติตามข้อตกลงปารีสได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามแนวทางที่อิงกับตลาด

5) เพิ่มเป้าหมายด้านสภาพอากาศของแต่ละประเทศ เพื่อไปสู่จุดหมายใหญ่ของข้อตกลงปารีส จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของภาครัฐบาล ธุรกิจ และประชาสังคม โดยกำหนดว่าภายในสิ้นปี 2022 แต่ละประเทศต้องเพิ่มมาตรการด้านสภาพอากาศเพื่อให้ภายในปี 2030 เป็นไปตามเป้าหมายในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสเป็นอย่างน้อย หรือเป้าหมายในอุดมคติที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ตามความตกลงปารีส

ทั้งนี้ COP26 มีข้อสรุปว่าทุกประเทศต้องตั้งเป้าหมายให้ตรงกัน โดยกำหนดเป้าหมายทุก 5 ปี เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ภาพรวมในระดับโลกได้ และหลังจากแต่ละประเทศนำแนวทางไปปฏิบัติแล้ว ต้องจัดทำรายงานข้อมูลกลับไปในรูปแบบ Biennial Transparency Report หรือรายงานความโปร่งใส ทุก 2 ปี ข้อมูลที่ต้องปรากฏในรายงาน ได้แก่ การลดก๊าซเรือนกระจก การปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลไกการเงินที่ได้รับการสนับสนุน เป็นต้น โดยที่ประเทศไทยมีกำหนดส่งครั้งแรกในปี 2024

เอกสารอ้างอิง:
Greenpeace Thailand. (2021). สรุปจากเสวนา ‘นายกฯ ไป COP26 = สภาพพ!!’. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/21223/climate-live-conclusion-thailand-cop26/.(วันที่ค้นข้อมูล: 11 เมษายน 2565).
กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม COP23 - COP23. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://datacenter.deqp.go.th/service-portal/cop23/derivation_cop23/. (วันที่ค้นข้อมูล: 12 เมษายน 2565).
TODAY Bizview. (2021). สรุป COP26 ตั้งแต่ความรู้เบื้องต้น จนถึงโอกาสเศรษฐกิจสีเขียว Green Economy. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://workpointtoday.com/tomorrow-x-finnomena-cop26-01/. (วันที่ค้นข้อมูล: 12 เมษายน 2565).

© 2024 TRIS Corporation Limited
cross