CLOSE

กลยุทธ์ ESG ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง

กนกรัตน์ สหกิจพิจารณ์ นักวิจัย ทริส คอร์ปอเรชั่น

ESG (Environmental, Social, and Governance) เป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล เพื่อทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งแนวคิดนี้กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากกระแสการตื่นตัวเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้หลายองค์กรต้องปรับตัวและเริ่มนำแนวคิด ESG มาประยุกต์ใช้ เพราะ ESG จะเข้ามาตอบโจทย์ในการดึงดูดนักลงทุนที่ต้องการลงทุนกับองค์กรที่สามารถทำกำไรได้ในระยะยาว และยังช่วยส่งเสริมให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น

อย่างไรก็ตามการนำ ESG มาปรับประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับในแต่ละบริบทองค์กร ก็เป็นโจทย์สำคัญที่องค์กรต้องคำนึงถึง มิเช่นนั้นอาจเข้าข่ายการทำตามกระแสหรือการแก้ปัญหาอย่างฉาบฉวย ซึ่งอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงลบต่อองค์กรแทน อาทิ

  • Greenwashing คือ การที่องค์กรหรือแบรนด์โปรโมทว่าตนเองเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในเชิงปฏิบัติไม่ได้ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน แต่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการตลาดและการส่งเสริมภาพลักษณ์ เช่น การแก้ปัญหาหลอดพลาสติกโดยการใช้หลอดกระดาษแทน แต่ในภายหลังพบว่าหลอดกระดาษที่นำมาใช้นั้นไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้และใช้ทรัพยากรต้นไม้ในปริมาณสูง
  • Rainbow-washing คือ การที่องค์กรหรือแบรนด์โปรโมทว่าตนเองสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้มีมาตรการหรือกิจกรรมส่งเสริมอย่างแท้จริง เช่น การทำแคมเปญการตลาดในช่วง Pride Month แต่องค์กรนั้นกลับไม่ได้มีมาตรการเปิดรับความหลากหลายในที่ทำงาน

การนำกลยุทธ์ ESG มาปรับใช้ให้เกิดความยั่งยืนที่แท้จริง องค์กรควรจะต้องพิจารณาประเด็นหลักๆ ใน 3 ส่วน ดังนี้


1. เป้าหมายองค์กร
หลายครั้งที่การนำกลยุทธ์มาใช้ในองค์กรแล้วไม่ได้ผล เกิดจากการขาดการระบุทิศทางขององค์กรที่ชัดเจน จนนำไปสู่ความสับสนและการไม่นำไปปฏิบัติในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นองค์กรจึงควรเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนโดยวิเคราะห์มิติ ESG ที่สอดคล้องกับจุดแข็งขององค์กร หรือ Core Business ที่สุด รวมถึงต้องสอดคล้องกับความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

2. ความมุ่งมั่นสู่การประยุกต์กับกระบวนการทำงาน
การจะขับเคลื่อนกลยุทธ์ ESG ให้เกิดขึ้นได้จริงต้องอาศัยความมุ่งมั่นจากทุกฝ่ายที่จะเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับแนวทางหรือกฎระเบียบข้อบังคับเพื่อลดความเสี่ยง โดยเน้นการกระจายอำนาจ (decentralize) ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการมอบหมายทีมบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมิติประเด็น ESG ที่องค์กรนั้นสนใจและขยายผลไปทั่วทั้งองค์กรจนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร

3. การประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น
การวัดผลที่เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องทั้งผลระยะสั้นและระยะยาว จะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ ESG ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะจะทำให้องค์กรสามารถวางแผนปรับปรุงและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้ทัน

แหล่งอ้างอิง:
• George Serafeim. (2020). Social-Impact Efforts That Create Real Value. https://hbr.org/2020/09/social-impact-efforts-that-create-real-value
• Lucy Pérez, Dame Vivian Hunt, Hamid Samandari, Robin Nuttall, and Donatela Bellone. (2022). How to make ESG real. https://www.mckinsey.com/capabilities/sustainability/our-insights/how-to-make-esg-real

© 2024 TRIS Corporation Limited
cross