CLOSE

New Normal vs Old Normal และพลวัตการปรับเปลี่ยนที่ยึดทางสายกลางเป็นสรณะ

วิกฤตการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาเพราะผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุขได้กลายเป็นสร้างปัญหาอีกด้านหนึ่งคือเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโควิด19 ในช่วงต้นถือว่ามีน้อยมาก ดังนั้นการศึกษาถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบจากโควิดน่าจะมีประโยชน์ในภายภาคหน้า เมื่อเรา (หมายถึงประเทศไทย หรือกลุ่มประเทศอาเซียน หรือทั้งโลก) อาจจะต้องเผชิญกับปัญหาในลักษณะนี้อีก จะเห็นได้ว่าแม้กระทั่ง WHO ก็ดำเนินการผิดพลาด (ความเห็นส่วนตัวผู้เขียน) ในช่วงแรก ม.ค.- มี.ค. WHO ไม่เห็นถึงความจำเป็นที่จะระงับการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งต่อมาก็พัฒนามาเป็นการกักกันเพื่อควบคุมโรค 14 วันสำหรับผู้เดินทางมายังประเทศไทย และหลายประเทศก็ใช้แนวทางนี้เช่นกัน ซึ่งผลที่ได้ก็จะพบว่าจะมีผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ซึ่งจะพบว่าการกักตัว 14 วันมีประสิทธิภาพสูงเพราะจะมีกรณีการติดเชื้อจากผู้ผ่านการกักกันโรค 14 วันน้อยมาก จะเห็นได้ว่าเรามีการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับโควิดมากมายนับตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน มาตรการต่างๆ ที่ได้ถูกนำมาใช้มักจะถูกอ้างถึงในรูปแบบของ New Normal อาทิ การทำงานที่บ้าน (WFH) การปิดร้านอาหารและธุรกิจบริการ การใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ โดยส่วนใหญ่มักจะตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าสุขภาพเป็นสิ่งที่สำคัญ (Priority) หากสามารถควบคุมประเด็นด้านสุขภาพได้ การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่ว่าด้วยการรวมตัวเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการทำงานและการสันทนาการ เกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยสามารถควบคุมการติดเชื้อในประเทศได้ (ไม่มีการติดเชื้อรายวันระยะหนึ่ง) ซึ่งเราพบว่าการควบคุมโควิด-19 นั้นแลกมากับความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยละไว้ในฐานที่เข้าใจว่าเมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงจะมีปัญหากระทบทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2563 นั้นเรามีความเชื่อว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19และสาระวนในการเยียวยาผู้เดือดร้อนในแบบต่างๆ และมีความเชื่อว่ามาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้มีส่วนช่วยในความสำเร็จดังกล่าว ในมุมมองของผู้เขียนพบว่าปัจจัยสู่ความสำเร็จประเด็นหนึ่งคือความร่วมมือของประชาชนในทุกระดับในมาตรการต่างๆ ของรัฐ แม้ว่าบางมาตรการจะสร้างความลำบากในการใช้ชีวิต ซึ่งผู้เขียนขอตั้งเป็นสมมติฐานอันหนึ่งว่าหากประเทศไทยมีภัยร่วมกันรัฐจะได้รับความร่วมมือจากประชาชนส่วนมาก สิ่งที่หายไป (และเป็นส่วนของข้อเสนอ) คือการประเมินมาตรการและสมมติฐานต่างๆ อย่างรวดเร็ว

ยกตัวอย่างเช่น การใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะและการล้างมือ ถ้าวิจารณ์โดยผิวเผินผ่านประสบการณ์และการอ่านบทความ พบว่าเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพและมีผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจต่ำ การปิดร้านอาหารในส่วนที่นั่งรับประทาน (หรือกำหนดเวลาให้จำกัด) ทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการรับประทานอาหารในร้านอาหารได้เกิดเป็นคลัสเตอร์ขึ้น ยกเว้นร้านอาหารที่มีรูปแบบบันเทิง (ดื่มสุรา) การทำงานที่บ้านของภาคเอกชนที่สร้างปัญหากับธุรกิจโดยรอบในบริเวณพื้นที่สำนักงาน และเมื่อเทียบกับการเปิดสำนักงานโดยอาจจะเทียบเคียงกับธนาคารสาขาที่เปิดให้บริการว่ามีการติดเชื้อมากน้อยเพียงใด ประสิทธิภาพการประยุกต์ใช้ระบบไทยชนะและหมอชนะ ในขณะที่ความรู้ในด้านการให้การรักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องดีขึ้นมากหากดูจำนวนผู้เสียชีวิตต่อจำนวนผู้ติดเชื้อในการระบาดระลอกใหม่


ดังนั้นสิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่าสิ่งที่ขาดไปคือการประเมินประสิทธิภาพและผลกระทบของมาตรการต่างๆ ที่ประเทศไทยได้ดำเนินการในช่วงไตรมาส 2 และ 3 เพื่อจะออกแบบมาตรการใหม่ที่มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์และความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้โดยตรงและการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับต่างประเทศ การตั้งคำถามต่างๆ เช่น ทำไมประชาชนส่วนใหญ่จึงให้ความร่วมมือในมาตรการต่าง ๆ ซึ่งผู้เขียนได้สอบถามจากบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ (เกือบทั้งหมด) บอกว่าคนไทยกลัวตายจึงให้ความร่วมมืออย่างดี การที่ประเทศไทยต้องกู้เงินในระดับที่เต็มเพดานของ พรบ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพื่อมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด19 รวมทั้งการที่ผลกระทบมีความรุนแรงทางเศรษฐกิจก็อาจจะมีผลต่อความร่วมมือของประชาชนได้ในที่สุด คำถามที่ว่าร้านอาหาร (ที่ไม่มีเหล้าขาย) เป็นแหล่งติดโควิดใช่หรือไม่ ผู้เขียนมักได้ยินเรื่องการทำความสะอาดร้านและปิดร้านชั่วคราวเพราะมีผู้ติดเชื้อเข้าไปใช้บริการ ไม่เคยได้ข่าวว่าร้านอาหารเป็นคลัสเตอร์ ซึ่งมาตรการในการรับมือการระบาดระลอกใหม่ภาครัฐก็มิได้สั่งให้งดการให้บริการในร้านอาหารแต่มีการกำหนดเวลา

จากข้อความทั้งหมดที่ผ่านมาผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาตำหนิรัฐบาล แต่จะต้องการที่จะเสนอข้อสังเกตในการแก้ไขปัญหาที่ใหญ่ซับซ้อนหลากหลายมิติและเรายังมีความรู้ที่เกี่ยวข้องจำกัด (ปัญหายาเสพติดไม่จัดอยู่ในลักษณะที่กล่าวมา) จำเป็นที่จะต้องเสริมกลไกการพัฒนาความรู้ทั้งจากภาคปฏิบัติและการแลกเปลี่ยน เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในมาตรการต่างๆ จากความรู้และข้อมูล การปรับปรุงมาตรการควรมีอย่างต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนข้อมูลในกรณีโควิดระหว่างด้านสุขภาพและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอาจจะมากเกินไปหากเทียบกับการมีระบบติดตามการเดินทางของประชาชนเพื่อให้สอบสวนหาผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว นำมาสู่ประเด็นหลักของบทความนี้คือ ความพยายามที่จะกลับสู่ Old Normal จะดีกว่าการเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตแบบ New Normal การนำกระบวนการจัดการความรู้ควบคู่กับการมีส่วนร่วม จะทำให้สามารถกำหนดแนวนโยบายที่เป็นกลางต่อผลกระทบจากมิติของปัญหาต่างๆ ได้ดี ยกตัวอย่างเช่น ในการระบาดรอบใหม่ที่รัฐสั่งให้ปิดร้านอาหารภายในเวลา 21:00 น. ซึ่งไม่มีใครรู้ว่า 21:00 มาอย่างไร ผ่านการวิเคราะห์แบบไหนมาบ้าง ถ้าปิด 22:00 จะเพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อเท่าไร่ ทำไมไม่ปิด 20:00 หรือสั่งปิดเพราะกลัวสุมหัวดื่มเหล้ากัน ทำไมไม่สั่งหยุดการขายสุราแทน หรือปิดร้านอาหารแต่เปิดร้านรถเข็นได้ไหมเพราะบริเวณที่นั่งทานมันโล่ง (ฟุตบาท) การได้แลกเปลี่ยนความเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะทำให้มาตรการมีผลกระทบอย่างเหมาะสม ในกรณีของโควิด19 คงเป็นการหาจุดเหมาะสม (ทางสายกลาง) ระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจ เป็นต้น ความรู้ที่เกี่ยวข้องจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดมาตรการ หากไม่มีความรู้ก็ต้องแสวงหาตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลเลย การโน้มเอียงสู่มิติต่างๆ ก็จะขึ้นอยู่กับความรู้ในมิตินั้นๆ และปัญหาที่เกิดขึ้น ควบคู่กับการติดตามและประเมินความสำเร็จของมาตรการก็จะเป็นส่วนที่ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ใหม่ด้วยเช่นกัน คงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะแก้ไขวิกฤตที่ยังไม่เคยเจอได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่เราต้องประเมินสถานการณ์อย่างเป็นระบบมีเหตุและผล ตลอดจนการยอมรับความเสี่ยงในบางประเด็น มากกว่าการลดความเสี่ยงที่อาจจะนำสู่มาตรการที่สุดโต่ง การยอมรับความเสี่ยงเปรียบเสมือนการขับรถในช่วงกลางถนนที่คดเคี้ยวและไม่เคยชินที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ไม่ประมาท สายตามองเส้นทางตลอดเวลา จะได้ไม่ตกถนนหรือชนกับรถที่สวนมา รวมถึงไม่พูดคุยกับคนที่โดยสารมาด้วย หรือจะยิ่งดีหากได้คนที่นั่งข้างคนขับช่วยมองถนนอีกแรงหนึ่ง โดยสรุปการแก้ไขวิกฤตที่ไม่เคยปรากฏ จำเป็นที่จะต้องมีกลไกการพัฒนาความรู้ในมิติที่เกี่ยวข้องและมีพลวัตในการปรับปรุงเพิ่มเติมความรู้อย่างต่อเนื่อง ความสำเร็จอาจจะกลายเป็นความผิดพลาดหากปราศจากการประเมินความสำเร็จนั้นอย่างเปิดกว้าง ความผิดพลาดที่มีการทบทวนย่อมจะเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จในที่สุด

© 2024 TRIS Corporation Limited
cross