CLOSE

ชีวิตที่ไม่ประมาทกับทฤษฎี 300 : 29 : 1

เราได้ยินคำสอนหรือคำเตือนอยู่เสมอว่า “จงใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท” ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน การปฏิบัติงานใดๆ การเดินทาง การทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องทำด้วยด้วยความระมัดระวัง แต่ด้วยความเคยชินในแต่ละวันอาจทำให้เราลืมระวังตัว ความประมาทก็คือความรู้สึกว่า “ไม่เป็นไร” ซึ่งถ้าเรากำลังทำอะไรที่จะเกิดปัญหาหรือความเดือดร้อนในอนาคต แต่เรายังไม่หยุดการกระทำนั้น เพราะคิดว่าคงไม่เป็นไร แบบนี้แสดงว่าเรากำลังประมาทอยู่ ซึ่งความรู้สึกว่าไม่เป็นไรนี้ก็จะมาหล่อเลี้ยงการกระทำนั้นไว้ให้ทำไปเรื่อยๆ จนในที่สุดปัญหาหรือความเดือดร้อนนั้นก็จะเกิดขึ้น ซึ่งนี่คือลักษณะของความประมาท

Herbert William Heinrich (เฮอร์เบิร์ต วิลเลียม ไฮน์ริช) ผู้ช่วยผู้กำกับฝ่ายวิศวกรรมและตรวจสอบของบริษัท ประกันภัยผู้เดินทาง เขาได้ค้นพบตัวเลขจากสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน จึงได้เขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Industrial Accident Prevention, A Scientific Approach การป้องกันอุบัติเหตุในงานอุตสาหกรรม ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ เกิดเป็นทฤษฎี 300 : 29 : 1 ซึ่งได้มาจากการรวบรวบรวมสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนน เขาพบว่าทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่1 ครั้งจะมีความประมาทที่เกิดจะเกิดอุบัติเหตุ 300 ครั้ง และมีอยู่ 29 ครั้ง ที่เกิดอุบัติเหตุเล็กๆ พูดอีกอย่างก็คือก่อนจะเกิดอุบัติเหตุใหญ่ 1 ครั้งเคยมีความประมาทเกิดขึ้นแล้วถึง 329 ครั้ง

งานของไฮน์ริชถูกอ้างว่าเป็นพื้นฐานของทฤษฎีความปลอดภัยตามพฤติกรรม โดยผู้เชี่ยวชาญบางคนในสาขานี้ซึ่งถือได้ว่ามากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ของอุบัติเหตุในที่ทำงานทั้งหมดเกิดจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัย ไฮน์ริชได้ข้อสรุปนี้หลังจากตรวจสอบรายงานอุบัติเหตุหลายพันฉบับที่ทำโดยหัวหน้างานซึ่งโดยทั่วไปตำหนิคนงานว่าเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุโดยไม่ได้ทำการสอบสวนอย่างละเอียดถึงสาเหตุที่แท้จริง

มีอีกหนึ่งทฤษฎี นั้นคือ ทฤษฎีโดมิโน (Domino Theory) ของการเกิดอุบัติเหตุก็สามารถเชื่อมโยงได้กับแนวคิดของไฮน์ริชเกี่ยวกับสาเหตุของอุบัติเหตุ ในทฤษฎีโดมิโน กล่าวว่าการบาดเจ็บและความเสียหายต่างๆ เป็นผลที่สืบเนื่องโดยตรงมาจากอุบัติเหตุ และอุบัติเหตุเป็นผลมาจากการกระทำที่ไม่ปลอดภัยหรือสภาพการณ์ที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งเปรียบได้เหมือนตัวโดมิโนที่เรียงกันอยู่ 5 ตัวใกล้กัน เมื่อตัวที่หนึ่งล้มย่อมมีผลทำให้ตัวโดมิโนถัดไปล้มตามกันไปด้วย

มีหลายคนก็ยังใช้ชีวิตด้วยความประมาท ประมาทในการกระทำกับความคิดที่ว่า ไม่เป็นไร เอาไว้ก่อน เดี๋ยวค่อยทำ พรุ่งนี้ค่อยว่ากัน เหมือนกับนิทานที่ชื่อว่า “นาไม่มีข้าว” ที่เล่าว่า

นาไม่มีข้าว
ฤดูฝนใกล้เข้ามาแล้ว ชาวนาในหมู่บ้านต่างเริ่มตระเตรียมดินเพื่อเพาะปลูกข้าว มีเพียงชายหนุ่มคนเดียวในหมู่บ้านที่ยังไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย ทั้งๆ ที่เขามีที่นาอยู่ถึง 10 ไร่ที่พ่อทิ้งไว้ให้เป็นมรดกก่อนตาย พร้อมเงินอีกจำนวนหนึ่ง เมื่อมีเพื่อนบ้านถามว่า ทำไมเขาจึงยังไม่ลงมือเตรียมดินไว้ปลูกข้าว ชายหนุ่มก็ตอบว่า “พรุ่งนี้ก็ได้ ยังมีเวลาอีกถมเถไป ข้ายังแข็งแรง ทำเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ เชิญพวกท่านทำไปก่อนเถิด”แล้วเขาก็ใช้เวลาไปกับการดื่มสุรา เที่ยวดูการละเล่น และเล่นการพนันตามหมู่บ้านต่างๆ จนเงินทองที่มีอยู่เริ่มหมดไปทีละน้อย

เวลาผ่านไปจนถึงฤดูฝน ชายชราที่เป็นเพื่อนบ้านและเป็นเพื่อนพ่อของชายหนุ่ม ได้เอ่ยเตือนเขาด้วยความเป็นห่วงว่า “ฝนมาแล้ว ทำไมเจ้าไม่ลงมือไถหว่านเสียที มัวแต่เที่ยวเล่น อีกหน่อยนาของเจ้าก็จะไม่มีข้าวเหมือนของคนอื่น” แต่ชายหนุ่มกลับตอบว่า “พรุ่งนี้ก็ได้ ยังมีเวลาอีกถมเถไป ข้ายังแข็งแรง ทำเดี๋ยวเดียวก็เสร็จ พ่อลุงอย่าห่วงไปเลย” ชายหนุ่มไม่สนใจคำเตือนของชายชรา และยังคงใช้ชีวิตเหมือนเช่นเดิม จนกระทั่งเงินที่เหลืออยู่น้อยนิดก็หมดไป และร่างกายก็ทรุดโทรมลง เจ็บไข้ได้ป่วย ต้องนอนซมอยู่กับบ้าน และยังมีโรคร้ายที่มาจากการดื่มสุรา ตอนนี้เขาไม่ใช่ชายหนุ่มที่แข็งแรงอีกต่อไปแล้ว เป็นเพียงชายขี้โรคคนหนึ่ง

ไม่ช้าฤดูฝนก็ผ่านพ้นไป เริ่มเข้าฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวที่ออกรวงเหลืองเต็มท้องทุ่ง ชายหนุ่มนั่งมองผู้คนในหมู่บ้านที่ออกไปเก็บเกี่ยวข้าวและแบกกระสอบข้าวกลับบ้านด้วยความสุข เขารำพึงกับตัวเองด้วยความเสียใจว่า “ถ้าข้าเริ่มเตรียมดินเพื่อไถหว่านพร้อมกับพวกเขา เหมือนที่พ่อลุงเตือน ป่านนี้ข้าก็คงมีข้าวเต็มนาแล้วเหมือนกัน นี่เป็นเพราะข้าประมาทว่าตัวเองยังแข็งแรง ทำเมื่อไหร่ก็ได้ จึงได้รับผลเช่นนี้”

ชีวิตของคนเรานั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนเสมอ สิ่งที่เราคิดว่าแน่นอน บางทีกลับเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วพริบตา โลกกำลังอยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นรวดเร็ว และรุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและวิถีการใช้ชีวิตของเราทุกคน สุดท้าย เรื่องที่ผู้เขียนเล่ามาทั้งหมดนี้ ก็อยากชวนผู้อ่านคิดถึงการมีสติ และไม่ประมาททั้งการใช้ชีวิต และการดำเนินธุรกิจ ลองเอาแนวคิด 300 : 29: 1 ไปปรับใช้ อย่ารอให้ป่วยก่อน ค่อยรักษา อย่ารอให้เกิดขึ้นก่อนค่อยเปลี่ยนแปลง การลงมือทำตอนนี้ ปรับเปลี่ยนตัวเองตอนนี้ ดีกว่ามานั่งเสียใจ หรือรอให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

© 2024 TRIS Corporation Limited
cross