CLOSE

Digital Literacy พื้นฐานการนำองค์กรสู่ยุคดิจิทัล

ในช่วงเวลานี้ หลายองค์กรอาจเพิ่งผ่านการเปลี่ยนแปลงองค์กรทางดิจิทัลหรือ Digital Transformation มาได้ไม่นาน ขณะที่หลายองค์กรอาจกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว หรืออีกหลายองค์กรก็กำลังพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดหรือเติบโตต่อไปได้ในยุคดิจิทัล แต่ทั้งหมดนั้น ไม่ว่าองค์กรใดในปัจจุบัน ต่างก็รับรู้ว่าดิจิทัลกำลังครอบงำโลก สิ่งสำคัญคือมันสามารถที่จะสร้างผลกระทบต่อการดำเนินงานและการแข่งขันขององค์กรได้อย่างกว้างขวาง
Digital Transformation นั้นจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขององค์กร โดยเป็นการนำองค์กรเข้าสู่ยุคของข้อมูล สารสนเทศ และความรู้อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งถึงแม้การเปลี่ยนแปลงในหลายส่วนจะเป็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลต่างๆ มาสนับสนุน รวมทั้งทดแทนสมรรถนะบางด้านของคนด้วยนั้น แต่อย่างไรก็ตาม คนก็ยังมีบทบาทในทุกกระบวนการไม่มากก็น้อย โดยคนหรือบุคลากรที่เรากล่าวถึงนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีทักษะสำคัญที่สอดคล้องกัน นั่นคือทักษะด้านดิจิทัล

กระนั้นก็ตาม ค่อนข้างน่าประหลาดใจที่องค์กรส่วนใหญ่ยังขาดความตระหนักในความสำคัญของทักษะดิจิทัลของบุคลากร โดยผลการศึกษาของคณะกรรมการยุโรปในปี 2018 (Curtarelli, M., ICT for work: Digital skills in the workplace) พบว่าองค์กรกว่าร้อยละ 88 ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาการขาดทักษะดิจิทัลให้กับบุคลากรของตน รวมทั้งการศึกษานั้นยังพบว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงองค์กรทางดิจิทัลนั้น ปัญหาจากการขาดทักษะดิจิทัลที่จำเป็นและการไม่ได้รับการฝึกอบรมทักษะดิจิทัลที่เพียงพอของบุคลากรคือความยากลำบากที่เกิดขึ้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว

ทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหรือ Digital Literacy นั้นเป็นทักษะด้านดิจิทัลพื้นฐานที่จะเป็นตัวช่วยสำคัญในการปฏิบัติงาน การสื่อสารและการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น รองรับการพัฒนากระบวนการทำงานหรือระบบงานขององค์กรให้มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพในโลกยุคดิจิทัล รวมทั้งสร้างโอกาสการเติบโตก้าวหน้าทางอาชีพให้กับบุคลากรที่มีความพร้อมด้านดิจิทัลดังกล่าวด้วย
คำว่า Digital Literacy นั้นถูกเริ่มต้นโดย Paul Gilster ในหนังสือของเขา Digital Literacy ที่ตีพิมพ์ในปี 1997 ที่ให้ความหมายไว้ในช่วงเริ่มต้นของยุคดิจิทัลคือ ความสามารถในการเข้าใจและใช้สารสนเทศในรูปแบบที่หลากหลายจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อมาพิจารณาถึงความต้องการในทักษะดิจิทัลของบุคลากรนั้น องค์กรต่างๆ จะคาดหวังถึงความตระหนัก ทัศนคติ และความสามารถของบุคลากรที่เพียงพอต่อการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการระบุ เข้าถึง จัดการ เชื่อมโยง วิเคราะห์ และสังเคราะห์แหล่งข้อมูลต่างๆ และการสร้างสรรค์สารสนเทศและองค์ความรู้ใหม่ รวมทั้งการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นในองค์กรและนอกองค์กรด้วย

จากรายงานผลการศึกษาทักษะดิจิทัลในการทำงานยุค Digital Transformation ที่สถาบันวิทยาการจัดการ ทริส คอร์ปอเรชั่น (TRIS Academy of Management-TAM) เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ปรากฎความคิดเห็นของผู้บริหารองค์กรไทยต่อประโยชน์ของทักษะดิจิทัลที่ส่วนใหญ่จะมองไปในด้านของการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ Digital Work Research (2018) ที่เผยว่า บุคลากรที่ขาดทักษะดิจิทัลจะเสียเวลาในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ IT มากถึง 22 นาที ต่อวัน และส่งผลทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงกว่าร้อยละ 8

 

สำหรับอุปสรรคหลักในการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลคือ การขาดความกระตือรือร้นที่จะอยากเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ของบุคลากรเป็นประเด็นที่พบมากที่สุด รองลงมาคือการขาดความตระหนักรู้ในความสำคัญของทักษะดิจิทัล และบุคลากรยังยึดติดในการทำงานแบบดั้งเดิมอยู่ ตามลำดับ ทั้งนี้จากรายงานการศึกษา Aligning the organization for its digital future (Kiron, D. 2016) พบว่าบุคลากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 คาดหวังให้องค์กรสนับสนุนการพัฒนาทักษะของตนให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมใหม่ในยุคดิจิทัล ขณะที่มีเพียงร้อยละ 42 ได้รับการสนับสนุนดังกล่าวแล้วในปัจจุบัน

ถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องให้ความสำคัญกับ Digital Literacy เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลหรือ Digital Transformation นั้น เป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และบรรลุตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้

ศึกษารายงานผลการศึกษาทักษะดิจิทัลในการทำงานยุค Digital Transformation ที่สถาบันวิทยาการจัดการ ทริส คอร์ปอเรชั่น (TRIS Academy of Management-TAM) ได้ที่ https://www.tris.co.th/digital_transformation/

© 2024 TRIS Corporation Limited
cross